จากกรณีรถบรรทุก “กรดซัลฟิวริก”พลิกคว่ำในแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว แล้วไหลลงสู่แม่น้ำคาน ก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขงอีกที สสจ.บึงกาฬ ร่วมกับเทศบาลเมืองบึงกาฬตรวจสอบคุณภาพน้ำโขงแล้วปกดีอีก 3 วันตรวจอีกครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ลงเล่นน้ำสงกรานต์
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 8 เม.ย.ดร.ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขบึงกาฬ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ สปป.ลาว ดังกล่าว ทาง สสจ.บึงกาฬ ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่กำลังลงเล่นในน้ำโขงในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ตนในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้สั่งการให้กลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย ประสานงานกับนายราชันย์ วะนาพรหม นายกเทศมนตรีเมืองบึงกาฬ สั่งการให้ นายเชิดชัย เจริญดี รองปลัดและจ่าเอกพินิจ สินนาง หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเรือท้องแบนออกตรวจสอบวัดคุณภาพน้ำโขง 2 จุดคือ ที่กลางแม่น้ำโขงและหาดสุขสำราญ ตามหนังสือประกาศเตือนของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.ฉบับที่ 1/2567 ลงวันที่ 5 เมษายน 2567 ผ่านมาและฉบับวันนี้ 2/2567 ลงวันที่ 8 เมษายน 2567
จากหนังสือประกาศดังกล่าวพอสรุปว่า จากการที่ สทนช.แจ้งให้ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ให้ประชาสัมพันธ์ข่าวสารข้อมูลเรื่องสารเคมีรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสัตว์น้ำ ที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำโขง โดยให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง และผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ณ วันที่นี้ที่ 8 เมษายน 2567บริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยพบว่าคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน โดยมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (PH) ระหว่าง 7.00-8.00 และปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ไม่น้อยกว่า 6 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ และยังแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังต่อไประหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2567 นี้
นพ.ภมร กล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำโขงในเขตของจังหวัดบึงกาฬพบว่าปกติดีค่าPH 6.5-8.5 ส่วนกรดซัลฟิวริกหรือสารเคมีที่รั่วไหล อาจจะยังเดินทางหรือไหลตามน้ำมายังไม่ถึงหรืออาจละลายเจือจางหายไปกับระยะทางน้ำก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามภายใน 2-3 นี้จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบวัดคุณภาพน้ำอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้พี่น้องประชาชนผู้ทีอาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง และการใช้น้ำโขงเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการจับปลาน้ำโขงมาเพื่อประกอบเป็นอาหารด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ”กรดซัลฟิวริก” หรือ กรดกำมะถัน มีสูตรเคมีว่า H₂SO₄ เป็นกรดแร่ แก่ ละลายได้ในน้ำในทุกความเข้มข้น ความเป็นพิษต่อร่างกายของกรดซัลฟิวริกคือ หากผิวหนังสัมผัสโดยตรง ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และเกิดแผลพุพอง แต่ชาวสวนยางพาราจะรู้จักคุ้นเคยดี เพราะมีประโยชน์นำมาใช้ผสมกับน้ำยาง โดยหยดลงถ้วยยางพาราที่กรีดใหม่ เพื่อให้ยางก้อนถ้วยจับตัวกันแข็งตัวเร็วขึ้นนั่นเอง.
ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล//บึงกาฬ 0628256546