จากกรณี ชาวบ้านนาแสงสาคร ม.7 ต.นาแสง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ กว่า 30 ครัวเรือน ถือหนังสือทวงหนี้ค่าน้ำประปา จากองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เข้ารับฟังการชี้แจงจาก นายนิรันดร์ เนาวนิต นายก.อบต.นาแสง และเจ้าหน้ากองคลัง อบต.นาแสง ถึงข้อเท็จจริงในการทำหนังสือทวงหนี้ค่าน้ำประปา ย้อนหลังเกือบ 10 ปี กับชาวบ้านทั้งตำบลนาแสง ใน 6 หมู่บ้าน กว่า 1,200 ครัวเรือน ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่จ่ายค่าน้ำประปา ผ่านตัวแทนผู้รับจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง มาโดยตลอด โดยเริ่มมีหนังสือแจ้งทวงหนี้ไปที่ชาวบ้านบ้านนาแสงสาคร หมู่ที่ 7 ก่อนหมู่บ้านอื่นๆ ภายในตำบลนาแสงนั้น
จากข้อมูลพบว่าในปี 2558 มีชาวบ้านค้างค่าน้ำประปาจำนวน 343 ครัวเรือน เป็นเงิน 40,587 บาท ปี 2559 ค้าง 1,200 ครัวเรือน เป็นเงิน 125,007 บาท ปี 2560 ค้าง 455 ครัวเรือน เป็นเงิน 34,696 บาท ปี 2561 ไม่มีค้าง แต่พอตกปี 2562 กลับมีค้าง 566 ครัวเรือน เป็นเงิน 45,041 บาท ปี 2563 ค้าง 83 ครัวเรือน เป็นเงิน 19,707 บาท ปี 2564 ค้าง 497 ครัวเรือน เป็นเงิน 37,275 บาท ปี 2565 ค้าง 554 ครัวเรือน เป็นเงิน 31,602 บาท และปี 2566 ค้างเป็นเงิน 64,829 บาท รวมเป็นเงินที่ยังคงค้างในระบบการจัดเก็บค่าน้ำประปาจำนวนทั้งสิ้น 398,744 บาท
หลังจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของ อบต.นาแสง และตรวจสอบรายรับรายจ่ายเงินประจำปีและงบแสดงฐานะการเงิน ของ อบต.จึงพบว่ามียอดค่าน้ำประปาคงค้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จึงสั่งให้ อบต.นาแสง ทำหนังสือทวงหนี้ค่าน้ำประปากับชาวบ้านที่ยังค้างจ่าย พร้อมกับชี้แจงผลการตรวจสอบของ สตง.และยืนยันว่าชาวบ้านจะต้องจ่ายค่าน้ำประปาที่ยังค้างอยู่ ส่วนชาวบ้านที่อ้างว่าตัวเองได้จ่ายค่าน้ำไปหมดแล้วก็ขอให้นำเอกสารหลักฐาน เช่นใบเสร็จมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ และย้อนคำถามไปที่เจ้าหน้าที่ อบต.ว่าที่ผ่านมาทำไมไม่ตามเก็บเงินที่ชาวบ้านค้างค่าน้ำ เพราะในสัญญาการใช้น้ำประปาได้ระบุไว้ว่าหากใครไม่จ่ายค่าน้ำหรือค้างค่าน้ำติดต่อกัน 3 เดือนจะถูกตัดมิเตอร์ไม่ให้ใช้น้ำ แล้วชาวบ้านคนที่เขาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2558 ใครจะเก็บใบเสร็จรับเงินเอาไว้ ถึงแม้จะเก็บไว้ ตัวเลขตัวหนังสือต่างๆ คงจืดจางเลอะเลือนหายไปหมดแล้ว จากนั้นจึงพากันลุกฮือเดินออกมาจากห้องประชุมพร้อมกับบ่นพึมพำ วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาด้วยความไม่พอใจ
ด้านนายสำรวย ลารถ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 182 ม.7 บ.นาแสงสาคร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 ชาวบ้านก็รู้สัญญากับ อบต.อยู่แล้วว่าการติดตั้งน้ำประปาจะต้องปฏิบัติอย่างไรระหว่างผู้ใช้ กับ อบต. ถ้าไม่จ่ายภายใน 3 เดือนจะตัดมิเตอร์ จนล่วงเลยมานาน ถามกลับว่าทำไมไม่ไปตัดมิเตอร์ของชาวบ้านที่ค้างจ่าย ทำไมถึงเอายอดค้างตั้งแต่ปี 2558 มาเรียกเก็บ ซึ่งชาวบ้านบางคนมียอดรวมกันพันกว่าบาท บางคนสองพันกว่าบาท บางคน 4-800 บาท แล้วชาวบ้านใครจะยอมมาจ่ายย้อนหลัง ถ้าทำแบบนี้ชาวบ้านเดือดร้อน ส่วนตัวแล้วก็ยืนยันว่าตัวเองไม่เคยค้างค่าน้ำจ่ายมาตลอด ตัวเองก็อยู่บ้านตลอด ถามว่าถ้าไม่จ่าย แล้ว อบต.ทำไมไม่ไปเก็บ เก็บเงินมาแล้วเอาไปไหน ทำไมไม่เอาเข้าคลัง กลับปล่อยปะละเลยแล้วมาเรียกเก็บที่หลังทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน
ต่อมา สำนักงาน ปปช.จังหวัดบึงกาฬ โดยนางสาวนันท์นภัส สืบสัมพันธ์ ผอ.ป.ป.ช.บึงกาฬ มอบหมายให้ นายนราวิชญ์ มาตราช หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต และคณะฯ ร่วมกับ ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดบึงกาฬ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน กับ อบต.นาแสง หลังได้รับแจ้งเบาะแส พร้อมเชิญ นายนิรันดร์ เนาวนิต นายก.อบต.นาแสง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหาแนวทางช่วยเหลือชาวบ้าน โดยได้ข้อสรุปและแจ้งกับชาวบ้าน ว่า ทาง อบต.นาแสง จะอนุโลม ให้ชาวบ้านที่ค้างค่าน้ำประปาอยู่ หากชาวบ้านครอบครัวไหนไม่สามาถจ่ายเต็มจำนวนได้ก็ทยอยมาชำระค่าน้ำได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา และค่าน้ำคงค้างในปี 2558-2561 นั้น ทาง อบต.จะรับผิดชอบค่าน้ำที่ค้างอยู่เอง และทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าหลังจากนี้ อบต.จะใช้ระเบียบที่ตกลงกันไว้ในสัญญาติดตั้งน้ำประปา คือครัวเรือนไหนไม่จ่ายค่าน้ำ 3 เดือน จะตัดมิเตอร์งดจ่ายน้ำทันที ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านพอใจ ในข้อตกลงดังกล่าว
ด้านนายนิรันดร์ เนาวนิต นายก.อบต.นาแสง กล่าวว่า จากการที่ สตง.เข้ามาตรวจสอบบิลค่าน้ำ ได้พบว่ามีบิลค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2558-2564 ซึ่งในห้วงนั้นผมเองยังไม่ได้มารับตำแหน่ง หลัง สตง.ตรวจพบแล้ว ปรากฏว่ามีบิลที่เป็นลูกหนี้ หรือชาวบ้านค้างค่าน้ำประปา ซึ่งเจ้าหน้าที่ในสมัยนั้นอาจจะยังไม่เคร่งครัดในการจัดเก็บ หรือเห็นใจชาวบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ ในเมื่อชาวบ้านไม่จ่ายค่าน้ำ ซึ่งบางคน 4-5 ปีที่ผ่านมามีแค่ 2 เดือน หรือ 3 เดือน แต่ชาวบ้านก็มั่นใจว่าตัวเองจ่ายมาตลอดไม่เคยค้าง แต่กลับมาปรากฏอยู่ในบิลค่าน้ำประปา เป็นลูกหนี้ เพราะฉะนั้นในปี 2567 นี้ ทาง สตง.ก็เข้ามาตรวจอีกครั้งและโยนเรื่องให้นายก ในฐานะผู้นำองค์กร จะต้องรับผิดชอบในการท้วงหนี้จากชาวบ้าน ซึ่งตัวเองก็ได้ปรึกษากับ จนท.จัดเก็บ กองคลัง ก็เลยทำหนังสือทวงหนี้ตั้งแต่ปี 2558 นำส่งหมู่บ้านนาแสงสาครก่อน เพราะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ อบต.เมื่อทวงไปแล้วทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ รวมตัวมาขอคำชี้แจงจาก ซึ่งผมก็ชี้แจงไปว่าที่ทวงไปนั้นเป็นการทำตามหน้าที่หากไม่ทำก็จะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่(157) หลังพูดคุยกับชาวบ้านก็ได้ข้อสรุปว่า หนี้ที่ค้างอยู่ก็ให้ชาวบ้านทยอยจ่ายได้ ซึ่งชาวบ้านก็พอใจ และได้ตกลงกับชาวบ้านว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก ต่อไปหากครัวเรือนไหนค้างค่าน้ำอีกเกิน 3 เดือน ทาง อบต.จะมีหนังสือไปเตือนก่อน ให้มาชำระหนี้ เพื่อจะได้ไม่เป็นหนี้สะสม และหากเพิกเฉยก็จะดำเนินการยกมิเตอร์ตัดจ่ายน้ำให้ใช้ทันที ซึ่งก็ขอขอบคุณที่ชาวบ้านเข้าอกเข้าใจ การแก้ไขปัญหาของ อบต.ซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน จบลงไปด้วยดี
แหล่งข่าวใน อบต.นาแสง คนหนึ่งกล่าวว่า เหตุที่ไม่เรียกเก็บหนี้ค่าน้ำประปาที่ค้างกันมาหลายปี โดยนายก อบต.นาแสงคนก่อน บอกเจ้าหน้าที่จัดเก็บไม่ให้เรียกเก็บเงินกับชาวบ้าน เพราะกลัวชาวบ้านจะไม่พอใจและจะมีผลกระทบกับฐานเสียงในการลงรับสมัครเลือกนายก อบต.สมัยหน้าด้วยนั่นเอง.
ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล//บึงกาฬ 0933199399