ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ สั่งทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง

นายศรัณยู มีทองคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ แจ้งว่า ในช่วงประมาณกลางเดือนมกราคมถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีสภาพแห้งแล้ง ในหลายพื้นที่จะเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ปี ๒๕๖๘ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

๑. เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุบโภคบริโภคและนำเพื่อการเกษตร และให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ วางแผนการใช้น้ำในกรณีต่างๆ ทั้งกรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการรักษา ระบบนิเวศน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและความต้องการใช้น้ำในพื้นพื้นที่

๒. บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่

๓. ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดพร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ เช่น การจัดหาภาชนะเก็บกักน้ำ การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างประหยัด

๔. หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงและอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ให้ยกระดับการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับแนวทาง คือต้องสอดส่อง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะกรณีขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ไม่ให้เกิดปัญหาความชัดแย้งจากกรณีแย่งชิงน้ำ รวมทั้งป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่พบบ่อยในช่วงฤดูแล้ง เช่น การลักขโมยเครื่องสูบน้ำและเครื่องมือทางการเกษตร เป็นต้น เพื่อลดการซ้ำเติมปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ให้การสนับสนุนการจัดทำฝนหลวงเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการประสานไปยังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรณีได้รับการร้องขอจากพื้นที่ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระบาดที่มักเกิดในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง อาทิ อหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โดยจัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ไปให้คำแนะนำ ดูแลสุขภาพของประชาชน และให้ความรู้ในการปฏิบัติตนให้ถูกสุขอนามัย เพื่อลดดความเสี่ยงการเกิดโรคให้มีน้อยที่สุด