จังหวัดเพชรบูรณ์ประชุมคณะกรรมการอาหารปลอดภัย ครั้งที่1/2568 ขับเคลื่อนงานให้คนเพชรบูรณ์ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอาหารปลอดภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งที่1/2568 โดยมี นายวิชาญ คิดเห็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่ห้องประชุมพ่อขุนผาเมือง ชั้น 6 อาคารเพชบุระ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขับเคลื่อนงานอาหารปลอดภัย ให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลเฝ้าระวังอาหารที่ผลิต และบริโภค ครอบคลุม อาหารทุกประเภท ในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีความปลอดภัย ส่งเสริมการมีสุขภาพดี
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้จัดทำแผนให้หน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร เขตสุขภาพที่ 2 เข้าตรวจสารปนเปื้อนในทุกอำเภอโดยจะ มีการตรวจสารฆ่าแมลงในผักและผลไม้สด ณ สถานที่จำหน่าย เน้นตรวจในผัก 17 รายการ ได้แก่ ใบบัวบก พริกแห้งผักชี ขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ต้นหอม บล็อกโคลี กระเทียม พริกสด พริกหยวก แตงกวา แตงร้าน มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว มะเขือเทศ และ ผักบุ้งจีน มีการตรวจสารฆ่าแมลงในผัก และผลไม้อินทรีย์ ตรวจสารประกอบมีขั้ว (Polar Compound) ในน้ำมันทอดซ้ำ ตรวจสารบอแรกซ์ โดยเน้นตรวจในหมูปิ้ง นมสด ตรวจสารฟอร์มาลีน เน้นเฝ้าระวังใน ปลาหมึกกรอบ สไบนางและปลาหมึกสด ตรวจหาสารกันรา ตรวจหาปริมาณไอโอดีนในเกลือ ตรวจหาสารเร่งเนื้อแดงในหมู และตรวจกรดแร่อิสระ และ มีแผนเฝ้าระวังโรงพยาบาลและเรือนจำอาหารปลอดภัย โดยจะเข้าตรวจใน 11 อำเภอ ทั้งโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลค่ายพ่อขุนผาเมือง โรงพยาบาลเอกชน และเรือนจำทุกแห่ง มีแผนเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ โดยลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำดื่ม ตรวจ เชื้อโคลิฟอร์ม ความกระด้าง ความเป็นกรด-ด่าง และปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ
นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ดำเนินงานความปลอดภัยด้านอาหารจังหวัดเพชรบูรณ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในสตรอว์เบอร์ ได้แก่ สารฆ่าแมลง 2 กลุ่มสาร และสารกำจัดเชื้อรา โดยได้มีการเก็บตัวอย่าง สตรอว์เบอร์รีตรวจทั้งสิ้น 159 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐาน 104 ตัวอย่าง การเฝ้าระวังความปลอดภัยมะขามแช่อิ่ม เพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณยีสต์และรา วัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิค/เกลือซอร์บิค และกรดเบนโซอิค/เกลือเบนโซเอต รวมถึงการใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ในทุกอำเภอ และมีแผนตรวจเฝ้าระวังสารฆ่าแมลงในผักและผลไม้สด โดยให้เกษตรที่สนใจส่งตัวอย่างผักและผลไม้สด ไปตรวจวิเคราะห์ยังศูนย์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ในช่วงเวลาที่กำหนด เกษตรกรที่มีผลการตรวจผักและผลไม้สดผ่านเกณฑ์ติดต่อกัน 2 ครั้ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์จะสนับสนุนสติ๊กเกอร์ผักผลไม้ปลอดภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้แก่เกษตรกร